|
กระทรวงแรงงานเตรียมปรับค่าจ้างทั่วประเทศรับ 300 บาท 1 ม.ค.56![]() ![]() ![]()
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 ได้มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขึ้น ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่าให้เดินหน้าปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททุกจังหวัด 1 มกราคม 2556 จาก “ฐานคิด” สนับสนุน 9 ข้อ เนื่องจากพบว่าการขึ้นค่าจ้างที่ผ่านมาไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คนไม่ตกงานไม่ส่งผลให้เงินเฟ้อหรือกระทบการลงทุน
โดยคณะกรรมการค่าจ้างได้พิจารณาผลการติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และแรงงานพบข้อมูลสถานการณ์หลังจากที่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำปีรอบแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5% ไปเมื่อ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา พบว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจ 9 ประเด็น คือ “(1) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี(เม.ย. – มิ.ย. 55) ได้มีการขยายตัวถึงร้อยละ 4.2 และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น (2) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน โดยในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2555พบว่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากBOI ทั้งสิ้น 829 โครงการ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38 (3) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่อย่างใด (อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนคือ มกราคม – กรกฎาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 2.92 ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.8) (4)การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น (เดือนมกราคม – มิถุนายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.8) (5) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ทำให้มีการเลิกจ้างเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลการตรวจแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จำนวน 9,098 แห่ง ลูกจ้าง 350,214 คน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 28 มิถุนายน 2555 มีสถานประกอบกิจการเพียง 2 แห่งที่เลิกกิจการ คิดเป็น ร้อยละ 0.02 ที่มีการเลิกจ้างและลูกจ้างได้รับผลกระทบ 144 คน คิดเป็นร้อยละ 0.04 (6) ผลการสำรวจของกระทรวงแรงงาน และหอการค้าไทยพบว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถึงแม้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่วนใหญ่แต่ก็สามารถปรับตัว และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ (7) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือไม่อย่างไรนั้น แบ่งการวิเคราะห์เป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้น (Short Term) ได้มีส่วนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ระยะปานกลาง (Middle Term) ส่งผลให้เกิดการผลักดันให้มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนระยะยาว (Long Term) ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการลงทุนและการผลิตเพื่อช่วยให้ประเทศก้าวข้าม “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap” จากประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว (8) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ได้ช่วยลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชากรและกระจายรายได้ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและ (9) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยผลการสำรวจพนักงานของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยปรากฏว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาได้ทำให้พนักงานมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยเสริมสภาพคล่องต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และทำให้พนักงานที่ไม่มีเงินออมหรือมีแต่น้อยได้มีเงินออมเหลือเก็บและเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลการสำรวจของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ที่ทำการสำรวจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทนั้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 60.7 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ ก็เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ยังคงมีการขยายตัวภายหลังการปรับค่าจ้าง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 สูงกว่าไตรมาสแรกของปี (ม.ค. – มี.ค. 55) และอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีผู้บริโภคก็อยู่ในระดับปกติ” ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างได้พิจารณาเหตุผลตาม “ฐานคิดสนับสนุน 9 ข้อ” แล้วจึงเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างไม่ส่งผลต่อภาคการลงทุนและการผลิต ขณะที่คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้นสามารถมีเงินเพื่อเก็บออม ดังนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจึงมีมติ ให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ที่เห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 โดยคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ที่มา : กระทรวงแรงงาน www.mol.go.th |
|
![]() |
![]() |
Miracle Consultant Limited
1/828 การ์เด้นโฮม ช้อปปิ้ง พลาซ่า หมู่ที่ 17 ถนนพหลโยธิน
ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 Tel : 02-5316729-30 E-mail : webmaster@miracleconsultant.com |