|
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2556 ความรับผิดทางอาญาของนายจ้างนิติบุคคลตามพรบ.แรงงาน ตามมาตรา 158 ไม่ขัดต่อรธน. 2013-07-10 10:31:26 ใน รวมคำพิพากษาฎีกาคดีแรงงานที่น่าสนใจ » 0 6432
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2556 เรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 158 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง
โดยเห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการว่าจ้าง การใช้แรงงาน และการจัดสวัสดิการที่จำเป็นในการทำงาน เพื่อให้ผู้ทำงานมีสุขภาพอนามัยที่ดีและได้รับค่าตอบแทนตามสมควร เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรม รวมทั้งกำหนดมาตรการให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กร ต้องปฏิบัติต่อกันและต่อรัฐ และเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานและสภาพการทางานขั้นต่ำที่นายจ้างพึงปฏิบัติต่อลูกจ้าง โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ได้ให้ความหมายของคำว่า “นายจ้าง” ไว้ว่า หมายถึง ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง (1)ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง
(2)ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย ดังนั้น นายจ้างจึงมีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 158 อยู่ในหมวด 16 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย”
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการบัญญัติถึงกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิด และการกระทำความผิดนั้นเกิดจากการสั่งการ หรือการไม่สั่งการ หรือการกระทำการ หรือการไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดๆ ที่ต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นก็ให้บุคคลที่กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการตามหน้าที่ดังกล่าว ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดที่นิติบุคคลกระทำด้วย เป็นบทบัญญัติที่กำหนดตัวบุคคลที่ต้องรับผิดในทางอาญาร่วมกับนิติบุคคล เนื่องจากนิติบุคคลเป็นบุคคลสมมุติตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้ด้วยตนเอง หรือไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกได้ หากปราศจากบุคคลผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น อันเป็นการสอดคล้องกับความหมายของคำว่านายจ้างที่เป็นนิติบุคคลตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 158 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ถือเอาพฤติกรรมหรือการกระทำของผู้ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งก่อให้เกิดการกระทำความผิดของนิติบุคคลว่าต้องรับผิดในผลของการกระทำของตนเอง จึงมิใช่เป็นบทสันนิษฐานความผิดของกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ในการดำเนินงานของนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดไว้ก่อนตั้งแต่แรกเริ่มคดี หากแต่โจทก์ยังคงต้องมีหน้าที่พิสูจน์ถึงการกระทำหรืองดเว้นกระทำตามหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวก่อนว่าเป็นผู้สั่งการ หรือไม่สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำและมีความผิดตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ จึงวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 158 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง สนใจรายละเอียดของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม คลิก!! |
|
Miracle Consultant Limited
1/828 การ์เด้นโฮม ช้อปปิ้ง พลาซ่า หมู่ที่ 17 ถนนพหลโยธิน
ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 Tel : 02-5316729-30 E-mail : webmaster@miracleconsultant.com |