|
ค่าเบี้ยประกันภัยที่นายจ้างจ่ายให้หรือจ่ายแทนลูกจ้าง ถือเป็นเงินได้ของลูกจ้างหรือไม่ 2012-10-18 10:54:14 ใน คำแนะนำนายจ้างลูกจ้าง » 0 15283 ปัจจุบันบริษัทหรือโรงงานต่างๆจะต้องให้ลูกจ้างหรือพนักงานของตนทำประกันสังคม เพื่อรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย แต่ประกันสังคมนั้นมีข้อจำกัด ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลในจำนวนจำกัดที่ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ส่วนที่เกินตกเป็นภาระของลูกจ้างพนักงานที่ต้องควักเงินจ่ายเอง
นายจ้างส่วนใหญ่จึงมักทำประกันภัยให้แก่ลูกจ้างพนักงาน เพราะสัญญาประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้มากกว่าประกันสังคม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่เมื่อเจ็บป่วย และทำให้นายจ้างได้รับผลประโยชน์จากประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้างอย่างเต็มที่ ที่นี้ก็มีปัญหาอีกว่าเงินที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยถือเป็นเงินได้ของลูกจ้างที่ต้องนำไปคำนวณเสียภาษีหรือไม่ และนายจ้างสามารถหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ อย่างแรกรู้ก่อนว่าประกันภัยนั้นที 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประกันชีวิต และประกันวินาศภัย(หรือประกันอุบัติเหตุ) 1. กรณีค่าเบี้ยประกันชีวิต กรณีที่นายจ้างได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้แก่ลูกจ้าง โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตกำหนดให้ผู้รับประโยชน์คือลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้างเอง ดังนั้นค่าเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับเพิ่มนอกจากค่าจ้าง ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลูกจ้างจึงต้องนำค่าเบี้ยประกันชีวิติที่นายจ้างออกให้มาคำนวณรวมเป็นเงินได้ของลูกจ้างเพื่อเสียภาษี ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) “เงินได้เนื่องจากจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆบรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน” ถือเป็นเงินได้ที่ต้องรวมคำนวณประเมินภาษี ส่วนนายจ้างหากเป็นกรณีที่เป็นการจ่ายแทนลูกจ้างทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทหรือโรงงาน นายจ้างมีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายแทนไปนั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3)และ(13)แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีค่าเบี้ยประกันวินาศภัยหรือประกันภัยอุบัติเหตุแบบกลุ่ม กรณีที่นายจ้างจ่ายค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุแบบกลุ่ม โดยผู้รับประโยชน์เป็นลูกจ้าง เงินค่าเบี้ยประกันที่นายจ้างจ่ายให้แทนลูกจ้างถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม และลูกจ้างได้รับการยกเว้นไม่ถือว่าเป็นเงินได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (77) แก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ.2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป โดยมีหลักเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นคือ 1. จ่ายเบี้ยประกันให้แก่บริษัทประกันภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร 2. กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี 3. คุ้มครองเฉพาะในส่วนค่ารักษาพยาบาล
ก. ลูกจ้าง สามี ภรรยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
ข. ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว
กฎกระทรวง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20 ) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ฉบับที่ 263 (พ.ศ.2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (76) และ (77) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร “ (76) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัท ประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพัน บาท สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มี เงินได้ซึ่ง มีรายได้ไม่เพียงพอ แก่การยังชีพ ทั้งนี้ ต้องเป็นเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายในปี พ.ศ. 2549 เป็น ต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด (77) เงินได้เท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ข) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป ” ให้ไว้ณวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาสุขภาพของประชาชนเพื่อสนับสนุนการสร้างสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง และสนับสนุนให้นายจ้าง จัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัวมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการภาษีด้านการเลี้ยงดูบิดามารดาและการยกเว้นภาษีกรณีค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน สมควรกำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็น เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามี หรือ ภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน หนึ่งหมื่นห้าพันบาท และเงินได้เท่าที่นายจ้างได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัย กลุ่ม เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเพื่อการประกันภัยลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้ สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องออกฎกระทรวงนี้ |
|
Miracle Consultant Limited
1/828 การ์เด้นโฮม ช้อปปิ้ง พลาซ่า หมู่ที่ 17 ถนนพหลโยธิน
ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 Tel : 02-5316729-30 E-mail : webmaster@miracleconsultant.com |