|
การสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกำหนด (Early Retire) เป็นการเลิกจ้างหรือลาออก?![]() ![]() ![]() ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนพ.ศ.2554 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งใหญ่ของประเทศไทย เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จากการประสบปัญหาอุทกภัยดังกล่าวทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้รับผลกระทบ ทำให้เครื่องจักรเสียหายและส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการหลายแห่งต้องปิดกิจการหรือลดอัตราการจ้างงานลง นโยบายสำคัญที่มีบทบาทในการช่วยปรับโครงสร้างองค์กรและกำลังคนให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต คือ โครงการ “สมัครใจร่วมจาก” โดยลูกจ้างผู้ได้รับการอนุมัติตามโครงการนี้จะได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น เงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ เงินสำหรับวันพักผ่อนประจำปีคงเหลือ และเงินบำเหน็จ หากลูกจ้างไม่ได้รับอนุมัติยังคงต้องทำงานต่อไปโดยที่หากลูกจ้างไม่ประสงค์จะทำงานต่อไปลูกจ้างต้องแสดงความจำนงลาออกโดยจะไม่ได้รับสิทธิใดๆ
นโยบายดังที่กล่าวมานั้นส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานแตกต่างกัน เนื่องจากมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดอัตราการได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องมาจากการถูกเลิกจ้างหรือการสมัครใจลาออกจากงานของลูกจ้างแตกต่างกัน คือ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเกิดปัญหาว่าการที่ลูกจ้างสมัครเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกำหนด เป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างสมัครใจลาออก ซึ่งจะส่งผลต่อการได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กรณีตามปัญหาข้างต้น ส่งผลให้สำนักงานประกันสังคมทำเรื่องขอหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ช่วยพิจารณา คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า “โครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกำหนดอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันโดยต้องพิจารณาถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในโครงการของนายจ้างแต่ละรายเพื่อให้ทราบถึงเจตนาของนายจ้างนั้น การเข้าร่วมโครงการฯของลูกจ้างมีลักษณะเป็นข้อตกลงร่วมกันหรือระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่จะระงับความผูกพันตามสัญญาจ้างด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายซึ่งมีผลทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง โดยนายจ้างได้รับผลประโยชน์จากการลดจำนวนลูกจ้างและลูกจ้างได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆที่นายจ้างเสนอให้จึงไม่อาจนำความหมายตามมาตรา 188 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2531 ซึ่งให้ความหมาย “การเลิกจ้าง” คือ การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป จึงเป็นกรณีที่ไม่ใช่การใช้อำนาจฝ่ายเดียวในการบอกเลิกสัญญาจ้าง การที่ลูกจ้างออกจากงานตามโครงการดังกล่าวเป็นการที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงานเนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง จึงเป็นกรณี “ว่างงาน” ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อการระงับความผูกพันตามสัญญาจ้างเป็นความสมัครใจทั้งสองฝ่ายและสัญญาจ้างสิ้นสุดลง จึงมิใช่เป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างหรือลูกจ้างเป็นฝ่ายลาออก หรือเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น แต่เป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงหรือชัดแจ้งจึงต้องตีความเพื่อประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ประกันตนโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบเจตนาของนายจ้างที่จัดให้มีโครงการดังกล่าว เมื่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มีเจตนารมณ์ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันและให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง และโครงการฯดังกล่าวนายจ้างต้องการลดจำนวนลูกจ้างลง ดังนั้น ลูกจ้างที่ออกจากงานตามโครงการฯจึงควรได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเดียวกันกับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างตามข้อ 1 (1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน” ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา[1] ข้างต้นนั้นเห็นได้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งมุ่งคุ้มครองผู้ประกันตนและเล็งเห็นว่าการออกโครงการฯของนายจ้าง นายจ้างและลูกจ้างต่างได้รับประโยชน์ จึงสมควรให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเดียวกับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ในการสร้างหลักประกันและให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างนั้นเอง นายศิระ กฤษฎาธาร
29 สิงหาคม 2555 [1] บันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้แก่ลูกจ้างในโครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกำหนด เรื่องเสร็จที่ 940/2555
|
|
![]() |
![]() |
Miracle Consultant Limited
1/828 การ์เด้นโฮม ช้อปปิ้ง พลาซ่า หมู่ที่ 17 ถนนพหลโยธิน
ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 Tel : 02-5316729-30 E-mail : webmaster@miracleconsultant.com |